ขายบุหรี่ไฟฟ้าราคาถูก.com : อ่านแล้วเหนื่อยใจ ครับ
พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ ว่า ที่ผ่านมาสำนักฯ ได้กวดขันการควบคุมยาสูบให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 มาตลอด โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ซึ่งจะมีการตรวจ ตักเตือน และอบรมผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ โดยปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีสถานที่ที่ไม่จัดให้ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ส่วนการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องอื่น เช่น การไม่ติดภาพคำเตือน ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สรรพสามิตร ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
พญ.ปานทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ... ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์นั้น จะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมการตลาดรูปแบบใหม่ๆ และการบริโภคยาสูบรูปแบบใหม่ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากุ มากยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายเดิมยังควบคุมและบังคับใช้ได้ยาก เพราะมีการนำเข้าแยกชิ้นส่วน หากยังไม่มาประกอบรวมกันก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้ ซึ่งในส่วนของบุหรี่ไฟฟ้า เท่ากับผลิตภัณฑ์เทียบเท่าบุหรี่ โดยพบว่าจะใส่นิโคตินเหลวซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่านิโคตินในบุหรี่มวนปกติถึง 6 เท่า นอกจากนี้ ยังไม่มีงานวิจัยชี้ว่าผู้สูบเสี่ยงจะได้รับอันตรายอะไรบ้าง จากกระบวนการทำให้เกิดไอ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าจะใส่สารเคมีและใช้แบตเตอรี ทำให้เกิดความร้อนจนกลายเป็นไอเพื่อให้สูบนิโคตินเข้าไป
“มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป ทั้งที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีความเข้มข้นสูงกว่าทำให้เกิดการเสพติดมากกว่า เสี่ยงได้รับอันตรายมากกว่า เพราะนิโคตินนั้นจะมีผลต่อระบบสมอง หัวใจ ความดันและหลอดเลือด ดังนั้น จำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อให้เกิดการควบคุมการนำเข้าและการใส่คำเตือนลงในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องมีคำเตือนให้ผู้บริโภคได้ทราบและตัดสินใจ” พญ.ปานทิพย์ กล่าว
หมอแจงชาวไร่ยาสูบไทยลดลง หันปลูกพืชเศรษฐกิจ เพราะกลไกตลาด ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ยาสูบ ฉบับใหม่
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ระบุว่าจำนวนชาวไร่ยาสูบและพื้นที่เพาะปลูกยาสูบของไทยลดลง เพราะหันไปปลูกพืชอื่นที่มีรายได้สูงกว่า และโรงงานยาสูบต้องไปซื้อใบยาสูบจากพม่า ลาว และกัมพูชา ว่า ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นที่มาเลเซีย โดยจำนวนชาวไร่ยาสูบมาเลเซียลดลงจาก 23,020 ราย ในปี 2543 เหลือเพียง 2,428 ราย ในปี 2555 และคาดว่าภายใน 10 ปี จะไม่มีชาวไร่ยาสูบอีกเลย เนื่องจากโรงงานผลิตบุหรี่ข้ามชาติในมาเลเซีย หันไปซื้อใบยาสูบจากประเทศอื่นในอาเซียนที่มีราคาถูกกว่า แน่นอนว่าโรงงานยาสูบไทยก็ต้องทำเช่นเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันกับบุหรี่นำเข้าได้
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ที่ก่อนหน้านี้สมาคมชาวไร่ยาสูบออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ของ สธ.โดยอ้างว่ากระทบความเป็นอยู่ของชาวไร่ยาสูบ ซึ่งข้อเท็จจริงคือกลไกตลาดต่างหากที่จะกระทบชาวไร่ยาสูบ ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว คือบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ไม่ต้องการให้ตลาดบุหรี่ไทยลดขนาดลง โดยขัดขวางนโยบายและมาตรการควบคุมยาสูบของรัฐบาลไทยทุกวิถีทาง ล่าสุดถึงกับฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกประกาศ สธ.ที่เพิ่มขนาดภาพคำเตือนจาก 55% เป็น 85% จึงขอให้ชาวไร่ยาสูบไทยรู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงและอย่าตกเป็นเครื่องมือของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ