ขายบุหรี่ไฟฟ้าราคาถูก.com : คิดยังไงกับบทความนี้ "บุหรี่ไฟฟ้า : ยาเสพติดแปลงร่างชนิดใหม่"
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับผู้สูบบุหรี่ ที่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย
โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผยและมีจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบมีการออกบูทจำหน่ายในหลายสถานที่
เช่น งานแสดงสินค้าต่างๆ ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่เสนอโดยผู้ลักลอบจำหน่ายเป็นข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการค้าที่พบผ่านทางอินเตอร์เน็ต
และหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ มักจะโฆษณาว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเลิกบุหรี่ และอ้างสรรพคุณว่ามีนิโคตินปริมาณน้อย ผู้เขียนจึงได้พยายามค้นคว้าในเชิงให้ความรู้แก่สาธารณะ
เพื่อให้รู้ถึงภัยอันตรายจากสินค้าแปลงร่างจากบุหรี่ตัวใหม่นี้
กระทรวงสาธาณสุขชี้อันตรายและผิดกฎหมายถึง 3 ฉบับ ด้วยความเป็นห่วงผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขของไทย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนภัยผู้บริโภคว่า
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าเลียนแบบ ที่ผู้จำหน่ายโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเลิกสูบบุหรี่ แต่พบว่าปริมาณนิโคติน (Nicotine) สูงกว่าบุหรี่ทั่วไปหลายเท่า
นับเป็นภัยตัวใหม่ จึงมีผลเสียต่อผู้ที่สูบบุหรี่ หากสูบบุหรี่ไฟฟ้า 1 มวน จะเท่ากับสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 15 มวน หากนำไปใช้จะเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้
เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าว ยังไม่มีผลการวิจัยรับรองว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้จริง
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ประกาศ มาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 เรื่องห้ามผลิตนำเข้า เพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไป หรือโฆษณาสินค้าอื่นใด
ที่มีรูปลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเภทบุหรี่ซิการ์แรตหรือบุหรี่ซิการ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นได้แต่ได้รับอนุญาต
ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตขาย หรือนำเข้า หรือสั่งนำเข้ายาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา
มาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม
หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครั้งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ
ซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกรมศุลกากร
เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบบุหรี่ไฟฟ้า ตามชายแดนทั่วประเทศ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เตือนผิดกฎหมายและเสี่ยงเสพติดศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวว่า ขณะนี้การขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
ยังไม่มีการขออนุญาตจากหน่วยงานใดๆ โดยหากจะขายเป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ ก็ต้องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
และหากได้รับการอนุญาตก็จะต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยา แต่หากจะขออนุญาตขายเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนบุหรี่
ก็ต้องขออนุญาตกรมสรรพสามิต และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็มีนโยบายไม่อนุญาต ให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ใดๆ
ที่มีนิโคตินผสมอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คือการขายยาเสพติดนั่นเอง การขายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหลายแหล่ จึงเป็นการทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น
เรามีสถิติของคนไทยที่ติดบุหรี่ว่ามีเพียง 3 คนใน 10 คนเท่านั้นที่เลิกสูบได้สำเร็จ
และในผู้ที่เลิกสูบได้สำเร็จนั้นต้องตกเป็นทาสของการสูบบุหรี่โดยเฉลี่ยถึง 20 กว่าปี ที่เหลือติดบุหรี่ไปจนตาย
เรายังไม่มีข้อมูลว่าคนที่ติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า จะติดนานเท่าไร และเลิกยากเท่ากับการติดบุหรี่ทั่วไปหรือไม่
แต่ปริมาณนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าที่มีมากกว่าบุหรี่ทั่วไปทำให้เราน่าจะสรุปได้ว่า อย่างน้อยที่สุดอำนาจการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่น่าจะแตกต่างจากการเสพติพดบุหรี่หรือยาสูบทั่วไป
การใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนวิธีการที่จะนำสิ่งเสพติด “นิโคติน” เข้าสู่ร่างกายโดย เปลี่ยนจากการสูบบุหรี่เผามาเป็นนิโคตินไอระเหยจากความร้อนของไฟฟ้าเท่านั้น
ทำไมจึงห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศศ. จอห์น บานซ์ฮาฟ จากองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากนักกฎหมายในนิวยอร์ก
โดยได้รวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อให้ความถูกต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ให้ได้รับข่าวสารที่บิดเบือนจากฝ่ายผู้ได้ประโยชน์ทางการค้า
ซึ่งทำให้สภาของรัฐนิวยอร์ค โหวตให้การห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ชนะขาด 125-0 สำหรับประเทศที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเลยนั้น
ขณะนี้มี 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา อิสราเอล แม็กซิโก และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้เป็นสินค้าควบคุม
ได้แก่ ฟินแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอังกฤษอยู่ในระหว่างดำเนินการให้เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมเช่นเดียวกับยา นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่นำเสนอต่อสภาของรัฐต่างๆ
เพื่อให้มีการออกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า
ข้อมูลของ FDA (กระทรวงอาหารและยาสหรัฐอเมริกา) ระบุว่า เน้นที่การประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของบุหรี่ไฟฟ้า
ในรายงานใช้คำว่า “acute health risks” และมีข้อความว่า “the danger posed by their toxic chemicals…cannot seriously be questioned”
ที่แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เกิดโรคร้ายแรงกับผู้บริโภคได้ “including racing pluse, dizziness, slurred speech,
mouth ulcers, heartburn, coughing, diarrhea, and sore throat” จึงควรกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
กลุ่มองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ The American Cancer Society, American Heart Association, American Lung Association,
Campaign for Tobacco-Free Kids, American for Nonsmoker’ Rights และ Association for the Treatment of Tobacco Use and Dependence
จึงได้ผนึกกำลังกัน เรียกร้องให้เกิดการควบคุมการขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ แสดงข้อมูลคัดค้านว่า บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ ซิการ์ และไปป์
เป็นสินค้าที่ทำให้เยาวชนเสพติดนิโคติน และยังไม่มีการพิสูจน์ว่าปลอดภัยจริง
แม้ว่าจะมีการอ้างสรรพคุณว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ จากเอกสารของ FDA ระบุไว้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดพิสูจน์ได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้า ซิการ์ และไปป์
เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ เป็นเพียงความเข้าใจของผู้ใช้บางกลุ่มเท่านั้น
เอกสารของ FDA ยังระบุด้วยว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูดเอาไอน้ำและสาร Propylene glycol เป็นสารต้านการแข็งตัวในอุตสาหกรรม
ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และจะได้รับนิโคตินซึ่งส่งผลให้เป็นโรคหัวใจล้มเหลว
นอกจากนี้ ยังมีสารก่อมะเร็งและสารพิษอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคนใกล้ชิดได้ด้วย ดังนั้น องค์กรรณรงค์ในอเมริกาจึงห้ามสูบบุหรี่ชนิดนี้ในสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ตามกฎหมาย
เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน
ข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเว็บไซต์ ScienceDaily.com ซึ่งนำเสนองานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่รับทุนจาก Tobacco-Related Disease Research Program (TRDRP)
เพียว ทอลบอต ผู้อำนวยการของ UC Riverside’s Stem Cell Center กล่าวว่า นักวิจัยได้ศึกษาบุหรี่ไฟฟ้า 5 ยี่ห้อ ผลการวิจัยระบุว่า ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัย
และยังมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค และงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารควบคุมยาสูบ “Tobacco Control”
พบข้อสังเกตต่อผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้ส่วนประกอบต่างๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ Batteries, atomizers, cartridges, cartridge wrappers ในแพ็กเก็ตหรือหีบห่อ รวมถึงคู่มือการใช้งาน
ไม่ได้ระบุข้อควรระวังและเตือนถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากสินค้าตัวนี้
ใน Cartridges ซึ่งเป็นที่เก็บนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดและสารเคมีที่เป็นอันตราย สามารถรั่วออกมาทางรอยต่อของอุปกรณ์บุหรี่ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง
ในบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการกำจัดสารพิษที่เหมาะสม เช่น ใน Cartridges ที่บรรจุนิโคตินผสมอยู่กับน้ำ เมื่อใช้แล้วก็ย่อมมีการปนเปื้อนของนิโคติน เมื่อนำไปทิ้งก็จะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคพึงระลึกว่า กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การขาย การโฆษณา ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้รับการควบคุมดูแลจากหน่วยงานอาหารและยาของรัฐบาล
การ์เมส อโซตา ผู้บริหารองค์กรวิจัย Tobacco-Related Disease Research Program แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า
งานวิจัยที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเกิดขึ้นเนื่องจากต้องการปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งผู้ที่เคยทดลองใช้แล้วหรือยังไม่เคยทดลองใช้
ข้อมูลที่ผู้ผลิตและนักการตลาดอ้างว่าปลอดภัย แท้ที่จริงแล้ว ในกระบวนการที่ทำให้เกิดไอน้ำของบุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นกระบวนการที่น่าสงสัยถึงความปลอดภัย
และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคมากกว่า เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความร้อนใน Cartridges ที่บรรจุนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษ
เรียบเรียงข้อมูลโดย ชูรุณี พิชญกุลมงคล เจ้าหน้าที่โครงการศูนย์ข้อมูลเพื่อการไม่สูบบุหรี่ และโครงการเครือข่ายเฝ้าระวังและรู้ให้ทันธุรกิจบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่